top of page
old-paper-wallpaper-preview.jpg

เศรษฐกิจและการค้า

8.png

อาชีพหลักของชาวอยุธยาคือ เกษตรกรรม มีข้าวเป็นผลิตผลที่สำคัญสามารถผลิตได้มากเพียงพอสำหรับพลเมืองของประเทศและยังเป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งที่อยุธยาส่งไปขายตลาดต่างชาติ

เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญของโลก ดังนั้นอยุธยาจึงมีรายได้จากการค้าทั้งจากการส่งสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศและจากการเป็นพ่อค้าคนกลางโดยราชสำนักตั้งพระคลังสินค้าขึ้นมาผูกขาดสินค้าสำคัญบางประเภทซึ่งพ่อค้าต่างชาติ จะต้องซื้อขายกับราชสำนักเท่านั้น

การค้าขายต่างประเทศ อยู่ภายใต้กรมคลังมีออกญาศรีธรรมราชเป็นผู้ควบคุมดูแล ในระยะแรกนั้นมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

คือกรมท่าขวา สังกัดออกพระจุฬาราชมนตรีขุนนางแขกซึ่งจะดูแลการค้ากับโลกตะวันตก กับกรมท่าซ้ายสังกัดพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ขุนนางจีนซึ่งจะดูแลการค้าฝ่ายตะวันออก ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อมีชาวยุโรปเข้ามาติดต่อค้าขายมากขึ้นจึงเกิดมีกรมท่ากลางขึ้นมาอีกกรมหนึ่งมีขุนนางฝรั่งดูแล

พระมหากษัตริย์และขุนนางมีสำเภาค้าขายกับต่างประเทศ ส่วนมากมีชาวจีนรับจ้างเป็นนายเรือและลูกเรือ สินค้าส่งออกของอยุธยาคือผลิตผลทางการเกษตรเครื่องสังคโลก และผลิตผลจากป่า เช่น งาช้าง หนังสัตว์ ไม้ เครื่องเทศ และแร่ธาตุต่างๆ เป็นต้น

รายได้หลักของราชสำนักอีกส่วนหนึ่งมากจากบรรณาการ ส่วยและภาษีอากรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษีการค้าขายกับต่างประเทศ ด้านการค้าภายในย่านการค้าและตลาดใหญ่น้อยตั้งอยู่ทั้งในเมืองและนอกเมือง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและเปลี่ยนสินค้า

ส่วนตลาดในกรุงศรีอยุธยามี 2 ประเภท คือ ตลาดน้ำขนาดใหญ่มีอยู่ 4 แห่ง และตลาดบกอีกราว 72 แห่ง อยู่นอกเมือง 32 แห่ง อยู่ในเมือง 40 แห่ง ย่านการค้าและตลาดเหล่านี้มีทั้งตลาดขายของสดเช้าเย็น ตลาดขายสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต (ของชำ) และสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านไม่เหมือนกับที่อื่น

7.png

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ธยามีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติทั้งประเทศเอเชีย และประเทศตะวันตก ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า มอญ เขมร ลาว ญวน และมลายู ส่วนมากเกี่ยวกันทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้า ในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง เครือญาติ หรือในฐานะเมืองประเทศราช ซึ่งบางครั้งก็ต้องทำสงคราม เพื่อชิงความเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินของกันและกัน

ความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย มักจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในด้านวัฒนธรรมการค้าขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนและเปอร์เซีย ได้เข้ามารับราชการในกรมคลังดูแลเรื่องการค้าขายกับต่างประเทศ ให้ราชสำนักอยุธยา ในงานศิลปกรรมสมัยอยุธยาก็มีอิทธิพลของศิลปะจีน อินเดีย และเปอร์เซีย ปรากฏอยู่

สำหรับประเทศตะวันตกนั้นอยุธยาติดต่อ กับชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกในรัชกาลสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 หลังจากนั้นก็มีชาวตะวันตกชาติอื่นตามเข้ามา ได้แก่ สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น การเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยา จุดมุ่งหมายเพื่อในการค้าขาย และการเผยแพร่คริสต์ศาสนา เป็นสำคัญ พระมหากษัตริย์อยุธยาทรงระมัดระวังในการดำเนินนโยบายทางด้านการต่างประเทศ พระองค์ทรงผูกมิตรกับทุกชาติ ที่เข้ามาติดต่อเพื่อให้มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน

นอกจากผลดีด้านเศรษฐกิจแล้ว การติดต่อกับประเทศตะวันตก ทำให้อยุธยาได้เรียนรู้วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ทางด้านการทหาร การสร้างป้อมและกำแพงเมืองอย่างยุโรป การใช้ปืนในการทำสงคราม ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ การประปาและการจัดสวน เป็นต้น โดยชาวตะวันตกบางกลุ่มได้เข้ามารับราชการรับใช้ราชสำนักเป็นทหารอาสา เป็นทหารรับจ้าง เป็นราชองครักษ์และเป็นวิศวกร

พระมหากษัตริย์ทรงอนุญาตและมอบที่ดิน ให้ชาวต่างชาติตั้งหมู่บ้าน ตั้งสถานีการค้า และสร้างศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมได้อย่างอิสระ หมู่บ้านของชาวต่างชาติส่วนมากตั้งอยู่นอกเมือง มีเฉพาะชาวจีน ชาวฮินดู และแขกเพียงบางกลุ่ม ซึ่งมีความสำคัญใกล้ชิดกับราชสำนักมาแต่เดิมเท่านั้นที่กำหนดให้สร้างบ้านเรือนอยู่ภายในเมือง

7.png
Gray Minimalist Web Development Linkedin Banner (1).png
bottom of page