การปกครองสมัยอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาปกครองรูปแบบที่มีกษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดินพระองค์ทรงมอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางปกครองดูแลเมืองลูกหลวงหลานหลวง และเมืองหน้าด่านต่างพระเนตรพระกรรณ ส่วนเมืองประเทศราชมีเจ้านายในราชวงศ์เก่าปกครอง ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาเมืองราชธานี
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครอง ลดทอนอำนาจหัวเมือง ทรงแยกการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายทหาร มีสมุหพระกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ในฝ่ายพลเรือนนั้นยังแบ่งออกเป็น 4 กรม หรือจตุสดมภ์ คือสี่เสาหลัก ได้แก่ กรมเวียงหรือนครบาลทำหน้าที่ปกครองดูแลบ้านเมือง กรมวังหรือธรรมาธิกรณ์ ทำหน้าที่ดูแลกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับงานต่างๆ ในพระราชวังและราชสำนัก กรมคลังหรือโกษาธิบดี ทำหน้าที่ดูแลด้านการค้า และการต่างประเทศกรมนา หรือเกษตราธิการ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเกษตรกรรม ซึ่งรูปแบบการปกครองนี้ใช้สืบต่อมาตลอดสมัยอยุธยา
สังคมอยุธยามีการแบ่งเป็นชนชั้นต่างๆ แยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ชนชั้นสูงหรือมูลนาย ประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในฐานะพระประมุข ระดับรองลงมาคือ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าเมืองและขุนนาง ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรสามัญชนทำหน้าที่ควบคุมชนชั้นใต้ปกครอง นั่นก็คือ ไพร่และทาส
ไพร่ คือพลเมืองสามัญ เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งกฎหมายกำหนด ให้ไพร่ต้องสังกัดมูลนาย เป็นระบบควบคุมกำลังคน ของทางราชการ ไพร่ถูกเกณฑ์แรงงานไปทำราชการให้หลวงปีละ 6 เดือน แต่หากไพร่คนใดที่ไม่ต้องการ จะถูกเกณฑ์แรงงาน จะต้องจ่ายเงินหรือสิ่งของเพื่อทดแทนแรงงาน เรียกว่าส่วย แรง งานไพร่ จะไม่มีเงินเดือนเป็นค่าตอบ แทน แต่สิ่งที่ไพร่จะได้รับคือการปกป้องคุ้มครองจากมูลนายที่ตนสังกัด
ทาส คือแรงงานของมูลนายตลอดชีวิต อันเนื่องมาจากเหตุผลทาง ด้านสงครามด้านเศรษฐกิจ การสืบสายเลือดทาสนั้นจะถูกเลี้ยงดูโดยมูลนายไปตลอดชีวิต