ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ประวัติที่มาและความสำคัญทางประวัติศาสตร์
กรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย บริเวณที่แม่น้ำสำคัญ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ต่อการเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เป็นชุมทางคมนาคมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าทั้งภายในและภายนอก จนทำให้เมืองอยุธยาเติบโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียในช่วง พุทธศตวรรษที่ 20 - 23
พื้นที่บริเวณเมืองอยุธยาได้ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยมีหลักฐานในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงการสร้างพระเจ้าพแนงเชิงเมื่อ พุทธศักราช 1867 เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นชุมชนบริเวณนี้มีขนาดใหญ่ มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง จึงมีทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ในการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นได้
จนกระทั่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองเมื่อ พุทธศักราช 1893 โดยรวบรวมกลุ่มเมืองที่มีความสัมพันธ์ทางด้านเครือญาติเข้าด้วยกัน อาทิ เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี เป็นต้น ต่อจากนั้นกรุงศรีอยุธยาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ มีการขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง สืบต่อมาถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินสืบต่อกันมา 34 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนที่กรุงศรีอยุธยา จะสิ้นสุดลงใน พุทธศักราช 2310 ทำให้ศูนย์กลางของประเทศไทยต้องย้ายลงมากรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานครตราบจนถึงทุกวันนี้
ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณกรุงศรีอยุธยา
ศูนย์กลางของกรุงศรีอยุธยา คือ ส่วนที่เป็นเกาะเมือง มีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย ตัวเกาะมีกำแพงเมืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง เมื่อแรกสร้างเมืองในสมัยพระเจ้าอู่ทองนั้นกำแพงเมืองทำด้วยดิน มาเป็นกำแพงอิฐสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กำแพงเมืองมีความยาวโดยรอบประมาณ 12.5 กิโลเมตร หนา 5 เมตร สูง 6 เมตร มีป้อมปืนประจำอยู่โดยรอบ จำนวน 16 ป้อม มีประตุเมือง 18 ประตู ประตูช่องกุด 16 ประตู ประตูน้ำ 20 ประตู รวมทั้งสิ้น 99 ประตู
อยุธยาถูกออกแบบให้เป็นเมืองน้ำ ผังเมืองที่สมบูรณ์และสวยงามเกิดจากความรู้จากธรรมชาติอย่างลึกซึ่ง เพราะแม่น้ำหลัก 3 สาย นอกจากจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่เมืองอยุธยาแล้ว เมื่อถึงฤดูฝน ปริมาณน้ำจะมีมาก และไหลหลากลงมามากเกินความจำเป็น ดังนั้นการสร้างเมืองของชาวอยุธยาจึงได้รักษาแม่น้ำลำคลองของเดิมเอาไว้ และมีการขุดคูคลองเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวเหนือใต้ ให้เป็นแนวตรง เชื่อมต่อกับแม่น้ำลำคลองเดิม ทำให้กระแสน้ำระบายออกไปจากตัวเมืองได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้เมืองอยุธยา มีแม่น้ำลำคลองจำนวนมาก เป็นเครือข่ายโยงใยกัน ทั้งนอกเมืองและในเมือง และแนวคลองต่างๆก็แบ่งพื้นที่ให้เป็นลักษณะเกาะขนาดเล็กจำนวนมาก สำหรับเป็นเขตวัด เขตวัง และที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ยังมีแนวถนนที่ขนานไปกับแนวคูคลอง มักสร้างเป็นถนนดิน ถนนอิฐ โดยมีสะพานจำนวนมากสร้างข้ามคลอง มีทั้งสะพานไม้ สะพานอิฐ สะพานก่อด้วยศิลาแลง สะพานสายโซ่ สะพานยก รวมทั้งสิ้นกว่า 30 สะพาน นอกตัวเมืองเป็นที่ต่ำกว่าใช้เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม มีแม่น้ำลำคลองนำน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงอย่างทั่วถึง สองฝั่งน้ำเหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอยุธยาซึ่งจะปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นกลุ่มๆ สลับไปกับวัดวาอาราม